เคยสงสัยกันหรือไม่คะว่า Blow Count คืออะไร? ทำไมเวลาที่เราทำบ้านหรือช่างพูดกันเราถึงไม่รู้ว่ามันคืออะไร วันนี้แอดจะพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับแบบละเอียดกันค่ะ

Blow Count คืออะไร?
คือ การนับจำนวนครั้งที่ปล่อยตุ้มน้ำหนักบนรถตอกลงมากระแทกที่หัวเสาเข็มและทำให้เสาเข็มจมลงดิน 1 ฟุต หรือ 30 เซนติเมตร สูตรในการคำนวณ Blow count มีหลากหลาย ซึ่งคำนวณจากปัจจัยหลักคือขนาดหน้าตัดเสาเข็ม, ความยาวเสาเข็ม, น้ำหนักของตุ้ม, ระยะยกตุ้ม, น้ำหนักปลอดภัยที่ผู้ออกแบบกำหนด และค่าความปลอดภัย ซึ่งจะทำการคำนวณโดยวิศวกร หากชั้นดินบริเวณปลายเสาเข็มมีความสามารถในการรับน้ำหนักได้สูง ค่าจำนวนการตอกก็จะสูงขึ้นตามลำดับ ผู้ติดตั้งจะเช็ค Blow Count ที่เสาเข็มจะมีการขีดเส้น ห่างกันทุก ๆ 30 เซนติเมตร และนับตามจำนวนครั้งที่ตอก หากการตอกเสาเข็มได้จำนวนครั้งตามค่าที่วิศวกรกำหนด จึงจะหยุดการตอกและเข้าสู่การนับการตอก 10 ครั้งสุดท้ายนั่นเองค่ะ

ทำไมถึงต้องใช้ Blow Count ยืนยันว่าเสาเข็มได้ตามที่ต้องการแล้ว
วิ ศวกรออกแบบโครงสร้างอาคารจะเป็นผู้ที่พิจารณาเลือกชนิดและความยาวของเสาเข็มที่เหมาะสมเพื่อรับน้ำหนักของสิ่งปลูกสร้างว่าสามารถรับน้ำหนักได้จริงหรือไม่
Last 10 Blow Count หรือหมายถึง ระยะทรุดตัวของเสาเข็มโดยการตอก 10 ครั้ง และต้องมีค่าไม่เกินค่าที่วิศวกรคำนวณไว้ ซึ่งผู้ติดตั้งจะทำการทดสอบเอง โดยการขีดเส้นบนเสาเข็มด้วยระดับที่อ้างอิงกับผิวดินและหลังจากการตอกไปแล้ว 10 ครั้ง ให้ขีดอีกครั้งจากเกณฑ์ระดับผิวดินเดิม ซึ่งจะมีค่าทรุดตัวของเสาเข็มจากการตอก 10 ครั้ง และทำทั้งหมด 3 ชุด โดยค่าทรุดตัวของครั้งหลังจะต้องน้อยกว่า 2 ครั้งแรก หากค่าทรุดตัวทั้ง 3 ชุดน้อยกว่าที่กำหนดไว้จากการคำนวณสูตรจำนวนการตอกถือว่าเสาเข็มลงถึงระดับดินที่ต้องการแล้ว และมีคุณสมบัติรับน้ำหนักตามที่ผู้ออกแบบได้กำหนดไว้ หากทำการตอกต่ออาจจะทำให้เสาเข็มเสียหายได้ในภายหลัง
ค่าจำนวนการตอก แสดงถึงความแน่นของชั้นดิน หากชั้นดินที่แน่นมาก ก็ต้องใช้จำนวนครั้งในการตอกมากขึ้นต่อ 1 ฟุต หรือ 30 เซนติเมตร และเพิ่มขึ้นตามลำดับจนกระทั่งถึงตัวเลขที่คำนวณไว้ ส่วน Last 10 วัดชั้นดินที่แน่นจากระยะทรุดตัว โดยการทดสอบทั้งสองชนิดจะต้องทำกับเสาเข็มทุกต้นที่ติดตั้งด้วยการตอก พร้อมทั้งเก็บค่าเพื่อการอ้างอิงแก่ผู้ออกแบบ เพื่อมั่นใจว่าฐานรากของอาการมีความมั่นคงตามที่กำหนดไว้ ดังนั้นผู้ติดตั้งและวิศวกรที่มีประสบการณ์จึงมีความจำเป็นในงานเหล่านี้ สาระดีๆจาก เว็บนายช่าง – หนึ่งเดียวเรื่องช่าง ต้องเว็บนายช่าง